วันพฤหัสบดีที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2562

bacc_Museum Minds"การศึกษาในพิพิธภัณฑ์ศิลปะและหอศิลป์"



พาน้องท่องหอศิลป วัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC)  ด้วยการพาน้องสัมผัสผลงานศิลปะของจริง
ท่ามกลางสถิติและข้อมูลที่พรั่งพรูออกมา ตั้งแต่กรณีหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) ถูกเพ่งเล็งและตัดงบสนับสนุนโดยผู้ว่า กทม. ประจวบพอดีกับวาระครบรอบ 10 ปีประหนึ่งตลกร้าย เราในฐานะประชาชนคนจ่ายภาษีจึงพลอยได้ทำความรู้จักเบื้องหน้าเบื้องหลังองค์กรนี้มากขึ้น
และที่สำคัญ ได้ฉุกเห็นประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ นั่นคือ หอศิลปกรุงเทพฯ ให้ความสำคัญกับงานการศึกษาเป็นวาระที่ 2 รองจากการจัดแสดงศิลปะ (มีการแบ่งสัดส่วนงานของ พ.ศ. 2561 ดังนี้ งานนิทรรศการ 63% การศึกษา 15% กิจกรรมเครือข่าย 12% ดนตรีภาพยนตร์ 7% ห้องสมุดศิลปะ 3%) ชวนให้ตั้งคำถามต่อไปว่า ทำไมงานการศึกษาถึงถือเป็นพันธกิจสำคัญของที่นี่? เจ้าหน้าที่การศึกษาต้องทำอะไร อย่างไร ในหอศิลป์?
ว่าแล้วเราจึงจับเข่าคุยแบบเจาะลึกกับ คุณวรฉัตร วาทะพุกกณะ เจ้าหน้าที่การศึกษาของหอศิลปกรุงเทพฯ เพื่อไขทุกข้อข้องใจเกี่ยวกับการวางแผนการเรียนรู้ ที่ไม่ได้จบแค่แขวนภาพบนผนัง
คุณวรฉัตรเลือกที่จะยก โครงการพาน้องท่องหอศิลป์เป็นเคสตัวอย่างเพื่อให้เราเข้าใจกลไกลของงานส่วนนี้มากขึ้น เริ่มมาจากพันธสัญญาของหอศิลป์กรุงเทพฯ ที่จะต้องทำกิจกรรมสำหรับบุคลากรของ กทม. ทุกปี จำนวน 2,000 คน
ทางทีมการศึกษาจึงมีการจัดอบรมครูภาควิชาศิลปะจากโรงเรียนในสังกัดของ กทม. โดยในช่วงแรกจะเน้นเรื่องเครื่องมือการสอน แต่พอเห็นว่าองค์ความรู้หลักของหอศิลป์นั้นอยู่ในตัวนิทรรศการ ดังนั้น จึงขยายขอบเขตงานมาสู่ โครงการพาน้องท่องหอศิลป์ที่พาเด็กๆ และคุณครูมาทำความคุ้นเคยกับหอศิลป์ มาทำความรู้จักกับงานศิลปะ ของจริงในพื้นที่ ไม่ใช่แค่รูปสองมิติในหนังสือเรียน และมาเรียนรู้ผ่านนิทรรศการ ด้วยกิจกรรมที่ออกแบบขึ้นเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของเขาโดยเฉพาะ
สิ่งที่ทีมต้องทำเป็นอันดับแรกคือ การลงพื้นที่ สำรวจความต้องการ รวมถึงความคาดหวัง ของผู้เข้าร่วมโครงการ (ทางทีมงานเลือกร่วมงานกับกลุ่มคุณครูศิลปะระดับประถมศึกษาตอนปลาย)
ซึ่งคุณวรฉัตรยอมรับว่า เจอกับปัญหาในหลายระดับ ตั้งแต่บุคลากรครูที่ไม่ได้จบด้านนี้มาโดยตรง หรือไม่มีประสบการณ์เกี่ยวกับศิลปะมาก่อน บ้างจับพลัดจับผลูมาสอนเพราะโรงเรียนขาดคน ไปจนถึงระบบการประเมินที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง อีกทั้งทัศนคติที่มักมองว่าศิลปะเป็นสิ่งไกลตัว ทำให้ทางทีมงานต้องทำการบ้านอย่างหนัก เพื่อให้โครงการนี้ไม่เป็นภาระเพิ่มเติม และเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย
โจทย์ในปีแรกคือ นิทรรศการประเทือง เอมเจริญ ร้อยริ้วสรรพสีสัน ตำนานชีวิตและสังคมซึ่งจัดแสดงผลงานภาพวาดสีน้ำมันของอาจารย์ประเทือง เอมเจริญ ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (จิตกรรม) พ.ศ. 2548
ทางทีมงานเลือกที่จะสอดแทรกความเป็นเกมควบคู่ไปกับการเรียนรู้เรื่ององค์ประกอบศิลป์ ตามหลักสูตรแกนกลางของกระทรวงการศึกษา ทั้งนี้ก็เพื่อประสบการณ์การเรียนรู้ที่หอศิลป์ตอบโจทย์สิ่งที่คุณครูต้องสอนในโรงเรียนอยู่แล้ว เพียงแต่เปลี่ยนวิธีการเรียนจากในห้องเรียนมาที่หอศิลป์
เขาก็จะเขียนคำใบ้ว่า ในภาพนี้เขาเห็นอะไรบ้าง มีโทนสีอะไร อะไรอยู่ตรงไหน แต่ห้ามเขียนชื่อภาพ แล้วก็มาสลับกัน ไปหาภาพที่เพื่อนเลือกเอาไว้ การตอบรับค่อนข้างดีมาก เพราะเด็กค่อนข้างสนุก เขาสามารถเอนจอยกับการดูงาน แม้งาน อ.ประเทือง เป็นงาน Abstract ดูยาก แต่เด็กเขาสามารถเข้าใจได้ เพราะว่าเขาต้องอธิบายให้เพื่อนเขาฟังคุณวรฉัตรกล่าว
เนื่องจากกลุ่มของนักเรียนนั้นมักจะมีขนาดใหญ่ ดังนั้น ทีมการศึกษาจึงต้องมีกิจกรรมเสริมเพื่อแบ่งกลุ่มนักเรียนออกมาจากพื้นที่นิทรรศการ โดยอีกกลุ่มนั้นจะได้อบรมเชิงปฏิบัติการ ลองสวมบทบาทเป็นอาจารย์ประเทือง เอมเจริญ และสร้างงานศิลปะด้วยอุปกรณ์สีอะคริลิกหรือสีน้ำ ซึ่งพวกเขามักจะไม่ค่อยได้ใช้ที่โรงเรียนเท่าไรนัก
คุณครูก็รู้สึกว่า เด็กไม่ได้วาดรูปเหมือนตอนอยู่โรงเรียน เราถือว่ามันค่อนข้างประสบความสำเร็จตามเป้าประสงค์ที่เราต้องการ เด็กได้แสดงออก ได้สร้างผลงานของตัวเอง แต่มันก็มีหลายๆ ส่วนที่เราต้องปรับปรุงเยอะเหมือนกัน โดยเฉพาะการทำความเข้าใจลักษณะพฤติกรรมการเรียนรู้ของเด็กในช่วงวัยนี้
ในปีที่ 2 คุณวรฉัตรเล่าว่า โชคดีที่ นิทรรศการดิน น้ำ ป่า ฟ้า : แรงบันดาลใจจากพ่อ
เป็นเรื่องโครงการในพระราชดำริ ซึ่งเป็นหัวข้อที่เด็กๆ คุ้นเคยและต้องเรียนรู้อยู่แล้ว แต่สิ่งที่เพิ่มขึ้นมาคือการต้องทำความรู้จักกับรูปแบบของงานศิลปะที่หลากหลากกว่า 160 ผลงานในโชว์นี้
เขาจะรู้จักแค่วาดรูป งานปั้น (แม้แต่) งานพิมพ์เขาก็แทบจะไม่รู้จักเลยด้วยซ้ำ แต่พอเขาได้มาเห็นงาน Installation ที่โอ้โห อลังการ มีหลอดไฟ มีต้นไม้ มีอะไรประหลาดๆ อยู่ในพื้นที่นิทรรศการ เขาก็รู้สึกว่า อ๋อ งานศิลปะมันไม่ได้มีแค่ภาพวาดนี่นา
เรามองว่าศิลปะมันเป็นเครื่องมือ เพราะถ้าเราพยายามยัดเยียดความซาบซึ้งแค่เรื่องสุนทรียะอย่างเดียว เด็กบางคนเขาอาจจะยังไม่เข้าใจ แต่พอเราเอาไปเชื่อมโยงกับเรื่องที่เขาคุ้นเคย อย่างเช่นโครงการหลวง เรื่องน้ำ เรื่องดิน เรื่องป่า เรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องการรีไซเคิล เขาก็เข้าใจมากขึ้น
เพื่อให้เห็นว่าศิลปะมันอยู่เดี่ยวๆ ไม่ได้ มันมีความเป็นพหุศาสตร์อยู่ในนั้น มันเป็นเครื่องมือสำหรับการสื่อสารในเรื่องต่างๆ ที่ศิลปินเขาได้แรงบันดาลใจมาคุณวรฉัตรอธิบายว่าหัวข้อนี้ทำให้เนื้อหากิจกรรมได้ทำงานร่วมกับวิชาอื่นๆ เช่นคณิตศาสตร์และสังคมศาสตร์ด้วย
ยกตัวอย่างเช่นกิจกรรมทำงานประดิษฐ์ เด็กๆ เขาได้ขยำกระดาษ แล้วก็สร้างเป็นเหมือนงานสามมิติเกี่ยวกับโครงการในพระราชดำริ ตอนสรุปเราก็เอาชิ้นงานมาต่อๆ กัน เวลาคนหนึ่งทำคน อีกคนหนึ่งทำเรื่องน้ำ อีกคนหนึ่งทำกังหัน ของพวกนี้ถ้ามันอยู่รวมกันมันก็จะเป็นสังคม พอเป็นสังคม เขาก็ได้เรียนรู้ว่า อ๋อ เราอยู่คนเดียวไม่ได้ เรามีแค่น้ำไม่ได้นะ เราต้องมีป่านะ เราต้องมีฝน เราต้องมีบ้านนะ นอกจากมีน้ำ เราต้องมีคนที่คอยทำความสะอาดมันด้วย
ปีนี้ โครงการพาน้องท่องหอศิลป์จะถูกสานต่อเป็นปีที่ 3 ร่วมกับ นิทรรศการ Beyond the Air We Breathe: Addressing Climate Change’ แต่ถึงแม้ว่าเนื้อหาจะเล่าเรื่องที่ใกล้ตัวอย่างสิ่งแวดล้อม ทีมงานก็มีความท้าทายที่จะต้องพลิกวิกฤตเป็นโอกาส หาแนวร่วมมาช่วยเพื่อทดแทนการตัดงบจาก กทม.
ปีก่อนหน้านี้เราทำด้วยตัวเองมาตลอด ปีนี้ค่ารถที่จะไปรับเด็กยังไม่มี เราต้องเริ่มออกไปทำงานกับองค์กรที่เขาเป็นคนที่ผลิตครู (สาขาวิชาศิลปศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยหัวเฉียว) เป็นองค์ความรู้ทางด้านทฤษฎีมาเสริมทัพ อีกทั้งมีการทำวิจัยประกอบด้วย ซึ่งก็หวังว่าวันหนึ่งมันจะได้ตีพิมพ์เพื่อเป็นประโยชน์กับองค์กรในลักษณะหอศิลป์ในไทยหรือพิพิธภัณฑ์ เพื่อการจัดการเรียนรู้สำหรับเยาวชนในอนาคต
คุณวรฉัตรทิ้งท้ายกับเราว่า ทุกคนในทีมยังทำงานกันอย่างเต็มที่ภายใต้ความกดดัน
โปรแกรมนี้เป็นจุดเริ่มต้นหนึ่งใน School Program ที่เราพยายามก่อสร้างร่างมันขึ้นมา เหมือนเวลาเราไปพิพิธภัณฑ์ในต่างประเทศที่คุณครูจากโรงเรียนมาทำงานร่วมกับพิพิธภัณฑ์ เพื่อที่จะช่วยกันออกแบบกิจกรรมให้เด็กๆ มาเรียนรู้ที่นี่ เหมือนใช้พื้นที่นี้เป็นเหมือนห้องเรียนห้องหนึ่ง
ห้องเรียนที่ใช้เครื่องมือศิลปะในการเรียนรู้ แต่ก็มันก็เรียนรู้ได้ทุกเรื่องเลย ทั้งเรื่องสังคม สิ่งแวดล้อม สร้างจิตสำนึก การตระหนักรู้ ถึงปัญหาโลกร้อน และตระหนักรู้เรื่องตัวเอง คือจริงๆ แล้วศิลปะมันไปได้ไกลมากเลย มันไม่ได้จบอยู่แค่ว่ามันสวยไหม
ผู้เขียนเองก็ได้แต่หวังว่า การแจกแจงกระบวนการและวิสัยทัศน์ด้านพันธกิจการศึกษาของหอศิลป์ในบทสนทนานี้ ควบคู่ไปกับภาพรอยยิ้มของเด็กๆ อาจจะช่วยตอบคำถามว่าด้วย ความคุ้มค่าและอธิบายกลไกลของการขับเคลื่อนสังคมด้วยศิลปะร่วมสมัยในใจหลายๆ คนได้ ไม่มากก็น้อย






อ้างอิง
https://www.youtube.com/results?search_query=bacc_Museum+Minds

https://readthecloud.co/museumminds-bacc-classroom/

https://www.google.co.th/search?q=%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A8%E0%B8%B6%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%B2%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B8%98%E0%B8%A0%E0%B8%B1%E0%B8%93%E0%B8%91%E0%B9%8C%E0%B8%A8%E0%B8%B4%E0%B8%A5%E0%B8%9B%E0%B8%B0%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%AB%E0%B8%AD%E0%B8%A8%E0%B8%B4%E0%B8%A5%E0%B8%9B%E0%B9%8C&sxsrf=ACYBGNQ1We10r-oxm7Tiwc6WoD_s1JLdvA:1573565970692&source=lnms&tbm=isch&sa=X&ved=0ahUKEwjXwtqF5uTlAhV76XMBHXDVBcEQ_AUIEigB&biw=1366&bih=608#imgdii=zwcIZvpnl9mr3M:&imgrc=LwdpKRT9AmZRtM:

https://www.google.co.th/search?q=%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A8%E0%B8%B6%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%B2%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B8%98%E0%B8%A0%E0%B8%B1%E0%B8%93%E0%B8%91%E0%B9%8C%E0%B8%A8%E0%B8%B4%E0%B8%A5%E0%B8%9B%E0%B8%B0%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%AB%E0%B8%AD%E0%B8%A8%E0%B8%B4%E0%B8%A5%E0%B8%9B%E0%B9%8C&sxsrf=ACYBGNQ1We10r-oxm7Tiwc6WoD_s1JLdvA:1573565970692&source=lnms&tbm=isch&sa=X&ved=0ahUKEwjXwtqF5uTlAhV76XMBHXDVBcEQ_AUIEigB&biw=1366&bih=608#imgrc=oVtXaS1Zh0RdLM:

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น